วามเป็นมาแต่โบราณกาล คำว่า “โป่งแยง” มาจากไหน ในหลักฐานประวัติศาสตร์ไม่ได้บันทึกไว้ ได้ทราบจากคนเฒ่าคนแก่เล่าสืบกันมาว่า ตำบลโป่งแยง เป็นตำบลเก่าแก่ตำบลหนึ่ง ของอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจะได้เห็นได้จากซากอิฐวัดร้างหลายแห่งในตำบลนี้ คือ วัดร้างกลางทุ่งหนองแดง หมู่ที่ 1 บ้านโป่งแยงใน ดงชาวแม้วทางเข้าเอราวัณรีสอร์ท หมู่ที่ 2 บ้านโป่งแยงนอก ปัจจุบันเป็นศาลเจ้า มีซากอิฐวัดร้างวัดใหม่ศรีม่วงคำด้านล่างและอุโบสถเก่าแก่บ้านหลวงกับซากอิฐบริเวณบ้านดงฝั่งตะวันตกของบวกเขียด หมู่ที่ 3 บ้านม่วงคำ ซากอิฐวัดร้างถ้วยประทีป ซากถ้วยโถโอชาม โบราณวัตถุแตกหักบริเวณสวนเมี่ยงชา หมู่ที่ 8 บ้านปางลุง ซากอิฐโบราณวัตถุต่าง ๆ เหล่านี้พิสูจน์ให้เห็นว่า ตำบลโป่งแยงเก่าแก่มานานนับ 400 ปีขึ้นไป ซึ่งจะตั้งหมู่บ้านโป่งแยงนี้หลังการตั้งเมืองเชียงใหม่ อายุราว 600 กว่าปี ตำบลโป่งแยงแต่เดิมมีเพียงสองถึงสามหมู่บ้าน มีผู้ใหญ่บ้านเรียกว่า พ่อหมื่น ต่อมาได้ตั้งเป็นตำบลแม่ฮะ อำเภอหางดง มีกำนันคนแรกเรียกว่า พ่อขุนเท้า และได้ย้ายมาขึ้นกับตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จนกระทั่งได้เป็นตำบลโป่งแยงขึ้นกับอำเภอแม่ริมจนถึงปัจจุบัน คำว่า หมื่น ท้าว ขุน พระยา ถ้าจะเทียบกับปัจจุบัน หมื่น คือ ผู้ใหญ่บ้าน ท้าว คือ กำนัน ขุน คือ นายอำเภอ พระยา คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด ทางภาคเหนือเรียกผู้ใหญ่บ้านว่า พ่อหลวง เรียกกำนันว่า พ่อแคว่น คือผู้ปกครองแคว้นแดนดินแห่งหนึ่ง
คำว่า “โป่งแยง” ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าสืบต่อกันมาว่า ในอดีตกาลเมืองเชียงใหม่ถูกข้าศึกศัตรูยกทัพมารุกราน รบราฆ่าฟันแย่งชิงเอาบ้านเมืองเพื่อต้องการเอาเป็นเมืองขึ้น เพราะเชียงใหม่อุดมสมบูรณ์ด้วยข้าวปลาอาหารมาแต่โบราณกาล เมื่อเกิดสงครามรบราฆ่าฟันกันบ่อย ขุนนางเจ้าสร้อยดอกพร้าวจึงได้อพยพครอบครัวจากเชียงใหม่มาตั้งบ้านเรือนหนึ่งหลัง อยู่ด้วยกัน 7 หม้อข้าวหรือ 7 ครอบครัวปลูกบ้านหลังเดียวขนาดใหญ่ เรียกว่า “บ้านหลวง” ซึ่งอยู่ในเขตหมู่ที่ 3 ตำบลโป่งแยง
ชาวบ้านเรียกติดปากกันว่า บ้านหลวง ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของตำบลโป่งแยง ขุนนางเจ้าสร้อยดอกพร้าว เป็นผู้มีวรรณโฉมสวยงามผิวขาวเนียนหาผู้ใดเทียบไม่ได้ ท่านได้ปักฐานอยู่บริเวณบ้านหลวง ท้าวพระยาผู้ครองเมืองเชียงใหม่และหัวเมืองน้อยใหญ่ ในประเทศลานนาสมัยนั้นทราบกิตติศัพท์ขุนนางเจ้าสร้อยดอกพร้าวผู้เลอโฉมยิ่งนัก ต่างหลั่งไหลพากันมาผ่อมาแยง (มาดู) โดยที่ขุนนางเจ้าสร้อยดอกพร้าว ท่านเบื่อศึกสงคราม อยากมาอยู่ที่สงบสันติ หลบภัยสงครามการเมือง ไม่อยากจะพบท้าวขุนพระยาเมืองเล็กเมืองใหญ่ เจ้าเมืองเชียงใหม่จึงได้ปลอมตัวเป็นชาวบ้านเข้ามาผ่อมาแยง จึงได้ชื่อตำบลโป่งแยง สมัยนั้น เป็นตำบล “ปลอมแยง” ต่อมาเปลี่ยนเป็นตำบล “ป่องแยง” และปัจจุบันเปลี่ยนเป็นตำบล “โป่งแยง” ซึ่งเป็นตำบลหนึ่งที่น่ามาผ่อ มาดูหรือมาแยง คำว่า “แยง” แปลว่า ดู ซึ่งเหมาะสมกับชื่อในปัจจุบันซึ่งใคร ๆ ก็อยากมาดูมาแยงความงามของสตรีและแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ
อีกประการหนึ่งในสมัยโบราณการต่อสู้รบทัพจับศึกของเมืองเชียงใหม่ ได้เคลื่อนย้ายพลทหารจำนวน 1,400 คน เข้ามาในตำบลโปงแยงที่ห้วยปันสี่ ตรงข้ามสวนพฤษศาสตร์ภาคเหนือ กรมป่าไม้ ในปัจจุบันเป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างตำบลโป่งแยงกับตำบลแม่แรม และเจ้าเมืองเชียงใหม่ยังเคลื่อนย้ายทหารเข้ามาในเขตตำบลโป่งแยง ตั้งค่ายพักแรมที่บ้านโป่งแยงนอก จำนวนหนึ่งแสนคน เรียกว่า ม่อนม่อนพระยาแสน ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าตำบลโป่งแยงเป็นเมืองหนึ่งของเชียงใหม่ที่น่าเที่ยวซึ่งไม่ห่างไกลจากเมืองเชียงใหม่เท่าใดนัก