จากการที่ชุมชนบ้านปงไคร้ ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ จังหวัดเชียงใหม่ จัดกิจกรรมปล่อยต้นแม่พันธุ์ฟ้ามุ่ยที่พร้อมออกดอก จำนวน 76 ต้น ในเดือนสิงหาคม ปี พ.ศ. 2551 ในป่าธรรมชาติไปแล้วนั้น ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2552 องค์การสวนพฤกษศาสตร์ ร่วมกับ ผศ. อุดม นวพานิชย์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้จัดกิจกรรมเพิ่มเติม เกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงกล้วยไม้เชิงอนุรักษ์ โดยสอนชาวบ้านให้เรียนรู้เทคนิคการเพาะเมล็ดกล้วยไม้ในสภาพปลอดเชื้อ ซึ่งชาวบ้านได้ทดลองปฏิบัติจริง ทั้งการเตรียมอาหารเพาะเลี้ยง การเพาะเมล็ด และการย้ายต้นกล้ากล้วยไม้ในตู้เพาะเลี้ยงในสภาพปลอดเชื้อ ซึ่งสร้างความประทับใจให้กับกลุ่มชาวบ้านที่เข้ามาอบรมในครั้งนั้นเป็นอย่างยิ่ง ความมุ่งมั่นในการเพาะเลี้ยงฟ้ามุ่ย ซึ่งเป็นกล้วยไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของหมู่บ้าน ให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นกันอย่างจริงจัง นำโดย คุณศิฐิณัฐ หลวงหล้า หรือ พ่อนัย ประธานกลุ่ม ที่เป็นแกนนำ (ปัจจุบันเสียชีวิต) ไปขอความอนุเคราะห์ให้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ช่วยถ่ายทอดเทคนิคในการเพาะเลี้ยง
ลักษณะภูมิประเทศ ตำบลโป่งแยง มีสภาพทางกายภาพทั่วไปเป็นภูเขา บางส่วนเป็นที่ราบเชิงเขาและที่ราบ พื้นที่บางส่วนอยู่ในความรับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุยและแม่สา เป็นพื้นที่ป่าไม้ ประมาณ 71.92% และเป็นพื้นที่ราบเพาะปลูก ประมาณ 23.10% พื้นที่ส่วนใหญ่เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม เนื่องจากมีสภาพอากาศที่หนาวเย็น ซึ่งผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ลิ้นจี่ พริกหวาน ซาโยเต้ (ฟักแม้ว) ดอกกุหลาบ ดอกเบญจมาศ สตรอเบอรี่ หอมหัวใหญ่ คะน้าฮ่องกง มะเขือเทศ สลัดแก้ว ลักษณะภูมิอากาศที่หนาวเย็นนี้มีความเหมาะสมในการส่งเสริมอาชีพและการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร